Skip to content

ข้าว GI คือข้าวอะไร ใช่ข้าวออร์แกนิคหรือไม่ ตอบกันชัดเพื่อหายสงสัย “ไม่ใช่” จริงๆ แล้ว ข้าว GI นั้นเป็นข้าว ธรรมดาๆ นี่เอง แต่เป็นข้าวที่มีความสำคัญด้านเกษตกรรมไทย ข้าว GI มีข้อพิเศษตรงที่ว่าชื่อและลักษณะสามารถ บ่งชี้ถึงถิ่นกำเนิดทางภูมิศาสตร์ได้ หรือในภาษาอังกฤษคือ Geographical Indications หรือ GI เป็นข้าวที่มีชื่อ หรือเครื่องหมายใดๆ ที่ใช้กับแหล่งผลิตที่เป็นต้นกำเนิดของสิ้นค้านั้นๆ ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน
สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จึงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งของท้องถิ่นนั้นๆ ที่มีความเชื่อมโยงระหว่าง ธรรมชาติและมนุษย์ รวมถึงทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ แม้จะเป็นข้าวสายพันธุ์เดียวกัน หากมีการนำไปเพาะปลูกและให้ผลผลิต ก็ไม่ได้รับการรับรองและไม่ถือว่าเป็นสินค้า GI สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ข้าว GI ที่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จะเกิดความแตกต่างและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเหล่านั้นได้
การขึ้นทะเบียน GI จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับเครื่องหมายการรับรอง GI จะต้องได้รับ การดูแลควบคุมทุกขั้นตอนในการผลิต การรักษามาตรฐานของสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ภายใต้ วงจรนี้จะทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทย เกิดการตื่นตัวและก้าวไปสู่การพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริม อุตสาหกรรมพื้นฐานในระดับรากหญ้า ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน พร้อมทั้งการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และยังเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทในการต่อยอดทางความคิด เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร การปลูกพืช Organic และอื่นๆ
ประเทศไทยมีข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ ข้าว GI แล้ว 9 รายการ ดังนี้
1. ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เพาะปลูกในเขตพัทลุง ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้มในเมล็ดเดียวกัน ส่วนข้าวสารเป็นข้าวที่มีเมล็ดสีขาวปนแดงหรือชมพู รูปร่างเรียวเล็ก เมื่อขัดสีจะมีสีชมพู มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
2. ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เพาะปลูกในเขตพื้นที่อำเภอเสาไห้ อำเภอเมือง อำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอหนองโดน และกิ่งอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี เมล็ดข้าวจะมีขนาดเล็กเรียวยาว เป็นข้าวพื้นแข็งที่มีเปอร์เซ็นต์อมิโลสสูงถึงร้อยละ 27-28 เมื่อหุงสุกข้าวจะร่วนเป็นตัว ไม่เกาะเป็นก้อน หุงขึ้นหม้อ รสชาติดี เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาชั่วลูกชั่วหลาน
3. ข้าวก่ำล้านนา ข้าวเหนียวที่มีเมล็ดสีดำ ได้จากข้าวก่ำพันธุ์ดอยสะเก็ด ข้าวก่ำอมก๋อย ข้าวก่ำพะเยา หรือข้าวก่ำพื้นเมืองที่มีคุณภาพดี ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
4. ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ในเขตพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเฉพาะ คือ ข้าวเปลือกเป็นข้าวมีเปลือกสีน้ำตาล ข้าวสารมีสีขาวนวลเป็นข้าวเหนียว เมื่อนึ่งสุกจะหอมและนุ่ม ไม่แฉะติดมือ และรักษาความอ่อนนุ่มไว้ได้นาน ไม่แข็ง
5. ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เพาะปลูกในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร มีเมล็ดที่ยาวเรียว ไม่มีหางข้าว เมล็ดที่ผ่านการสีแล้วจะมีความเลื่อมมัน จมูกข้าวเล็ก
6. ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร ข้าวพันธุ์หนัก ต้นสูง คอรวงยาว ปลูกในที่ลุ่มและดินเปรี้ยวได้ดี และมีสีขาว เลื่อมมัน มีไนอะซินสูง เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
7. ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ เพาะปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เมล็ดพันธุ์ข้าวต้อง เป็นข้าวดอกมะลิ 105 หรือพันธุ์ กข มีความหอมตั้งแต่เริ่มแทงดอกจนกระทั่งหุงสุกเป็นข้าวสวย ขาวใส เลื่อมมันสวยของเมล็ดข้าว เมื่อหุงสุกจะเป็นข้าวสวยที่มีสีขาวและมีเนื้ออ่อนนุ่ม
8. ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี พื้นที่เพาะปลูกต้องอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอวารัชภูมิ อำเภอพังโคน และอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ข้าวกล้องมีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลคล้ำ หรือเหลืองทอง เมล็ดจะมีกลิ่นหอม เรียว แกร่ง ใส
9. ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ ข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว ปลูกในพื้นที่ระดับความสูง 400-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หอม นุ่ม อร่อย จนเป็นที่ล่ำลือว่ากินเพลินจนลืมผัว